ผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียม จากภาวะข้อเข่าเสื่อม
ผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียม (ข้อเข่าเสื่อม)
เล็กๆ มิต้า ไม่… ใหญ่ๆ มิต้า ทำ” ก้าวล้ำด้วยคุณภาพ
สวัสดีครับ … ใครเคยได้ยินประโยคข้างบนไหมครับ ?? ถ้าเคยได้ยิน หมอขอสรุปให้ว่า ท่านเข้าสู่ความชราเรียบร้อยแล้วครับ ^__^ ก็พูดไปครับ เพราะพูดไป ก็เข้าตัวเองด้วย เลฟเวลสูงวัยรออยู่อีกไม่นานครับ:-)
หมอสุนทร เคยได้ยินประโยคนี้มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เป็นโฆษณาของผลิตภัณฑ์ เครื่องถ่ายเอกสาร ยี่ห้อ มิต้า ซึ่งสมัยนั้นถือว่าหรูหราไฮโซมาก แน่นอนว่าวันนี้หมอขอยก คำโฆษณามาใช้กับตัวเองบ้างครับ สำหรับหมอเอง
“เล็กๆ หมอสุนทรทำ ใหญ่ๆ หมอสุนทรก็ยิ่งชอบทำ”
คำว่า “ทำ” ในที่นี้ คือ การทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม นะครับ
วันนี้หมอสุนทร ขอพูดคุย พร้อมด้วยการยกเคส น่าสนใจเคสหนึ่ง มาให้อ่านกันครับ เป็นเคส ข้อเข่าเสื่อม ที่ผู้ป่วย เคยได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรงมาก่อน ตั้งแต่วัยรุ่น ( ดูจากภาพฟิล์มที่นำมาแสดง ) ใน ภาพเอกซเรย์ แสดงให้เห็นว่ามีการผ่าตัดใส่เหล็กอยู่ข้างในอย่างมากมาย พูดง่ายๆ ข้างในข้อเข่าผ่านการกรำสงครามมาหลายศึกยิ่งนัก
แน่นอนครับว่าเคสนี้ ข้อเข่าด้านซ้าย น่าจะเคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อน และทำให้กระดูกหัก ประกอบกับ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ร่วมกับภาวะขาอีกข้างหนึ่ง (ขวา) ที่หักอย่างรุนแรง และหมอคนก่อน จำเป็นต้องทำให้ขาสั้นลง คาดว่าน่าจะมีกระดูกสูญหายไปพอสมควร เมื่อขาขวาสั้นลง ขาซ้ายจึงยาวกว่า และนี่คือผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว ด้วยข้อเข่าข้างซ้ายต้องรับน้ำหนักมากขึ้น มีผลทำให้ข้อเข่าซ้ายทำงานหนัก เมื่อเดินใช้งานมากๆ ก็จะทำให้เกิดการ “พัง” ของข้อเข่าอย่างรุนแรง เพราะข้างซ้ายต้องรับน้ำหนักมากกว่า
เหมือนในวีดีโอ ( ก่อนผ่าตัด ) จะเห็นว่าคนไข้มีขาวงชัดเจนด้านซ้าย ซึ่งถือว่าเป็นเยอะมาก ทางการแพทย์เรียกกรณีนี้ว่า Varus Knee ผู้ป่วย ได้ไป ทัวร์ (รักษา) หลากหลายโรงพยาบาล ทั้งที่โรงพยาบาลใหญ่, โรงเรียนแพทย์ ฯลฯ ….. แต่ไม่มีหมอท่านไหนผ่าตัดให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เคสนี้เป็นเคสใหญ่ ผ่าตัดยาก และ มีความเสี่ยงสูง !!!
… แน่นอนครับว่าเคสนี้ต้องเป็น บุพเพอาละวาด (หมอแปลงมาจาก บุพเพสันนิวาส ) ให้ได้มาเจอกับหมอสุนทร เช่นเคย ซึ่งหมอมีสโลแกนประจำตัว ของ มิต้า หมอสุนทรทำหมดนะครับ ยิ่งเจอทุกเคสที่เป็นข้อเข่าเสื่อมและมีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัด ยิ่งยาก ยิ่งชอบครับ
เมื่อหมอเจอผู้ป่วย และทำการซักประวัติในครั้งแรก ต้องขอแสดงความเคารพในความอดทนของผู้ป่วยเหลือเกิน เพราะจากภาพเอกซเรย์ ซึ่งบ่งบอกถึงอาการที่สาหัสมาก แต่ผู้ป่วยยังคงทำงาน กรีดยาง ทำงานสวน ซึ่งต้องใช้ความอดทนกับความเจ็บปวดมานานกว่า 10 ปี ความอดทนและแข็งแกร่งของผู้ป่วยท่านนี้ หมอซูฮก (นับถือ) จริงๆ ( แต่ไม่ควรอดทนนานเกินไปนะครับ )
สิ่งแรกที่ต้องประเมินในการรักษา ผู้ป่วยเคสข้อเข่าเสื่อม
1. การใช้ข้อเข่าเทียม จะต้องเป็นรุ่นพิเศษ คือ จะต้องมีแกน เพื่อฝังลงไปลึกในตัวโพรงกระดูกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อเข่าจะมั่นคงและแข็งแรงจริงๆ
2. ประเมินเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ รอบข้อเข่า ซึ่งเอ็นที่อยู่รอบข้อเข่าด้านนอกจะต้องยืดอย่างรุนแรง ส่วนเอ็นด้านในก็จะหดสั้นอย่างรุนแรงเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมกระบวนการ ผ่าตัดตกแต่งเ ย็บซ่อมหรือยืดเส้นเอ็นไว้ด้วย
3. ผ่าตัดเหล็กเดิม เพื่อเคลียร์พื้นที่ นอกจากนี้แล้วคนไข้ยังเคยมีเหล็กที่เคยใส่ไว้ที่หน้าแข้งด้านซ้าย ซึ่งเหล็กนี้เองจะเป็นสิ่งที่ขวางแกนข้อเข่าเทียมที่จะใส่ลงไป หมอเลยจำเป็นจะต้องผ่าตัดเพื่อเอาเหล็กออกก่อนและเคลียร์พื้นที่ในครั้งที่ 1
สำหรับเคสนี้ จะใช้อุปกรณ์ ผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียม แบบปกติไม่ได้ ในครั้งแรกหมอได้ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือเป็นสว่าน ทางหมอเรียกว่า flexible reamer ซึ่งปกติแล้วจะใช้ในการผ่าตัดใส่เหล็กตามโครงกระดูกต่างๆ แต่กรณีนี้หมอต้องการใช้อุปกรณ์ตัวนี้เปิดโพรงกระดูก เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน และได้เตรียมพื้นที่ในการใส่แกนเหล็กของข้อเข่าเทียมในอนาคต
หลังจากการผ่าตัดครั้งแรกผ่านไปประมาณ 1 เดือน หมอจึงได้มา ผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเข่าเทียม อย่างเต็มรูปแบบ ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจครับ คนไข้สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง แต่ยังคงมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากขาข้างนี้ผ่านความเสื่อมที่รุนแรงและคนไข้เองก็ไม่ค่อยได้เดินมานานพอสมควร
เคสนี้สอนให้รู้ว่า หากมีอาการ อย่าปล่อยทิ้งไว้ จนเรื้อรัง หากเป็นมากเกินไป เป็นนานเกินไป การผ่าตัดจะยากและความเสี่ยง ก็จะมากขึ้นด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ ความเสี่ยงเรื่องของการยืดขาออกแล้วเส้นประสาทบาดเจ็บ ทางการแพทย์เรียก Common Peronral Nerve Injury (ซึ่งอาจจะส่งผลให้ข้อเท้าอ่อนแรง กระดกไม่ขึ้น ไม่มีแรงดันในการเดิน )
เคสนี้หมอผ่าไปประมาณ 6-7 ปีแล้ว ทุกวันนี้ ผู้ป่วยยังคงใช้งานได้ดีอยู่ ถือเป็นโชคดีของผู้ป่วยที่ภาวะต่างๆ ยังมีการฟื้นตัวได้ดีในระดับที่น่าพอใจ ผู้ป่วยสามารถเดินไป กรีดยาง ทำสวนได้ระดับหนึ่ง
ก็บอกแล้วไง เล็กๆ ก็ผ่า ใหญ่ๆ ยากๆ ยิ่งชอบผ่า
นี่คือหมอสุนทรไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร mita นะครับ
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
You must be logged in to post a comment.