วิธีการรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม – เจาะระบายน้ำออกจากข้อเข่า
เคยเจอปัญหานี้กันไหมครับ…โรคข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะในกลุ่ม สว. ( ผู้สูงวัย) แต่หัวใจยังเอ๊าะๆ เป็นสาวสองพันปี หนุ่มสี่หมื่นปี ไฮไลท์ผมสองสี หรือบางครั้งอินเทรนด์ผมสีดอกเลาสีเดียว อายุอานามราวๆ 16-17-18 ปี (กรุณากลับตัวเลข ด้วยครับ) 🙂
สัญญาณของ โรคข้อเข่าเสื่อม
วิธีการรักษา – เจาะระบายน้ำออกจากข้อเข่า
อาการเข่าบวม แบบเป็นๆ หายๆ เหมือนนินจาฮาโตริ เดี๋ยวก็บวม เดี๋ยวก็ยุบ บางครั้ง อาจจะไม่มีอาการบวม แต่เจ้าของเข่าจะรู้สึกว่า “เข่าอุ่นๆ” โดยเฉพาะเวลาที่ใช้งานเข่ามากๆ เช่น เดินนานๆ เดินทนจนลืมให้เข่าพัก ลักษณะอาการแบบนี้เป็นอาการหนึ่งของ โรคข้อเข่าเสื่อม นะครับ และเป็นอาการที่พบเจอได้ในทุกระยะไม่ว่าจะระยะเริ่มต้น ระยะครึ่งๆกลางๆ หรือระยะแอ็ดวานซ์ไปแล้ว
ปัญหา เหล่านี้เกิดจากอะไร ?
อาการบวมที่เข่า เกิดจากการอักเสบภายในข้อเข่า ครับ ซึ่งเจอในข้อเข่าเสื่อม ที่ผิวข้อเข่าได้รับการเสียดสีที่มากกว่าปกติ เป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะอักเสบ บวมน้ำ ภายในข้อเข่า นอกจากนี้ อาจเจอภาวะเอ็นรอบข้อบวมอักเสบร่วมด้วย ยิ่งทำให้ ข้อเข่าบวมมากๆ และส่งผลให้ข้องอ เหยียดไม่ได้ตามปกติ
ขั้นตอนการรักษาพยาบาล
1. เบื้องต้นเลย ..คิดจะพัก คิดถึง Kit Kat อ๊ะ..ไม่ใช่! พักครับ ผู้ป่วยต้องพักการใช้งานข้อเข่าเท่านั้น ลดการเดิน การงอเหยียดข้อเข่าโดยไม่จำเป็น
2. นั่งหรือนอน และยกขาให้สูง
3. หากมีอาการปวดแต่ไม่มาก ให้ใช้วิธีประคบเย็นบรรเทาอาการปวด
4. ทานยาแก้ปวด และ/หรือ ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
5. หากมีอาการบวม หรือปวดมาก ผู้ป่วยอาจจะต้องพิจารณา วิธีการรักษาด้วยการเจาะระบายน้ำออกจากข้อเข่า
กรณีสำหรับผู้ป่วยท่านนี้ (ตามคลิป) หมอเลือกใช้วิธี การเจาะระบายน้ำออกจากข้อเข่า ในการรักษา ร่วมกับการรับประทานยา ครับ เนื่องจากผู้ป่วย มีอาการปวดมาก จึงจำเป็นต้องระบายน้ำในข้อออก ขั้นตอนในการเจาะข้อเข่า หมอใช้อัลตร้าซาวนด์ เพื่อนำทางเข็ม ( Ultrasound Guide Injection) ในการเจาะระบายน้ำออกนะครับ เพราะจะมีความแม่นยำในการเจาะระบายและสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่าเจาะระบายน้ำได้หมดหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถตรวจหาความผิดปกติ อื่นๆ ได้อีกด้วยครับ
คนไข้ที่มีอาการดังกล่าวนี้ ขั้นตอนการรักษาด้วยการเจาะระบายน้ำออกจากเข่านั้น หมอจะฉีดยาชานะครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะเจ็บ แต่หลังจากยาหายชา ก็อาจจะมีอาการเจ็บปวดบ้างเป็นปกติ เหมือนเราถอนฟัน ก็ต้องฉีดยาชา เมื่อยาหมดฤทธิ์ ก็มีอาการปวดเป็นปกติครับ
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
You must be logged in to post a comment.