ปวดข้อ หัวไหล่ จากหินปูน ภาวะปวดไหล่ในวัยกลางคน
การปวดข้อ หัวไหล่ จากหินปูน จากภาวะเสื่อมของผิวข้อที่ขรุขระ อันเกิดจาก หินปูน เกาะสะสม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียดสีของเส้นเอ็นในข้อไหล่ อาจเกิดภาวะเอ็นฉีกขาดสะสม ทำให้ผู้ป่วยมี อาการปวดไหล่ เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะจะปวดมากใน ช่วงเวลากลางคืน ช่วงหัวรุ่ง หรือช่วงเวลาที่มีอากาศเย็น
สวัสดีครับ วันนี้หมอสุนทร เอา “หินปูน” มาฝากครับ ..ใครอยากแบก เตรียมเบ่งกล้ามรอครับ
ปวดข้อ หัวไหล่ จากหินปูน
จริงๆ แล้วภาวะ ปวดข้อหัวไหล่ ในคนวัยกลางคนขึ้นไป จะพบเจอได้บ่อยมากครับ ยิ่งถ้าอายุในวัย หนุ่มๆสาวๆ วัยเอ๊าะๆ วัยกระเต๊าะรุ่นเยาว์ราว 60-70 ปี ขึ้นไป ยิ่งพบได้บ่อยครับ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักจะมีประวัติการใช้งานไหล่ซ้ำๆ เป็นเวลานาน ประกอบกับในบางเคสอาจมีเรื่องของอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีตร่วมด้วย ทำให้ข้อไหล่ที่ควรจะปกติตามวัย อาจเกิดเป็นภาวะหินปูนสะสมได้
นอกจากนั้นแล้ว ภายในเนื้อผิวของข้อไหล่ ซึ่งเดิมที ควรจะมีความเรียบ ก็กลายเป็นลักษณะผิวข้อที่ ขรุขระ ทั้งสององค์ประกอบร่วมกัน ทำให้เกิด ภาวะอักเสบเรื้อรังในข้อไหล่ โดยเฉพาะหากมีการใช้งานมากๆโดยไม่จำเป็นครับ ปัญหาที่พบได้บ่อยมากๆ และอาจจะมองข้ามไป คือ “การแกว่งไหล่ แกว่งแขน” !!?? พอพูดถึงตรงนี้ ทุกท่านคงรู้สึกเอะใจ คำถามร้อยแปดพันเก้าผุดขึ้นมาทันทีว่า ….
อ้าววววคุณหมอ ทำไม่ได้เหรอ ?
หมอขออธิบาย เพิ่มเติมในส่วนของการ “การแกว่งไหล่ แกว่งแขน” ครับว่า จริงๆแล้ว สามารถทำได้ แต่คนที่ทำได้ควรจะเป็นคนที่ ข้อไหล่ปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นหมอขอแนะนำว่า ใครอยากออกกำลังกายโดยการแกว่งไหล่ แกว่งแขน ควรประเมินข้อไหล่ของตัวเองก่อนนะครับ ว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า เคยปวดหรือมีอาการบาดเจ็บใดๆ มาก่อนหรือไม่ ?
หากมีปัญหาเช่นนั้นจริง หมอก็อยากจะแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์กระดูกและข้อใกล้บ้าน เพื่อทำการตรวจอย่างเป็นทางการครับ เคลียร์ให้สิ้นข้อสงสัยกันไปเลย เพราะหากมี ภาวะหินปูนเกาะสะสม หรือภาวะเสื่อมของผิวข้อ เกิดขึ้นในข้อกระดูกจริง นี่ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียดสีเส้นเอ็นในข้อไหล่ ทางการแพทย์เรียกว่ากลุ่มเส้นเอ็น Rotator Cuff ซึ่งมีเส้นเอ็นหลักๆอยู่ประมาณ 4 เส้น และทำงานอย่างเป็นปฏิสัมพันธ์กันร่วมกับเอ็น รวมถึงกล้ามเนื้ออื่นๆ อีกครับ
เมื่อเส้นเอ็น กล้ามเนื้อถูกเสียดสีกับหินปูน หรือกับผิวข้อขรุขระที่กล่าวไปข้างต้น แน่นอนครับ ว่าก็จะเกิดภาวะเอ็นฉีกขาดสะสม อาจจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ
การเสียดสีบ่อยๆ ทำให้เนื้อเอ็นเกิดอาการเปื่อยครับ ….. คราวนี้แหละ ชีช้ำกะหล่ำปลีแน่นอน ฮ่าๆๆ
ผู้ป่วยบางท่านหากโชคไม่ดีนัก ใช้งานผิดจังหวะ เส้นเอ็นอาจจะขาดทันทีทันใดแบบฉับพลันได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่หมอพบ มักจะมีอาการแบบเอ็นเปื่อยเรื้อรัง อารมณ์เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวเรือ เนื้อเปื่อย น้ำตก เส้นเล็ก ไม่งอก อย่างนั้นเลยครับ ถ้าเนื้อในหม้อต้มเปื่อยยุ่ยอย่างไร เอาเข้าปากปั๊บ ละลายได้เลย เอ็น กล้ามเนื้อเราก็เช่นกันครับ:-)
เมื่อเกิดภาวะเอ็นเปื่อย เช่นนี้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ปวดไหล่ แบบเป็นๆ หายๆ ที่โดดเด่นมาก คือ มักปวดไหล่ในช่วงกลางคืน ช่วงหัวรุ่งหรือช่วงอากาศเย็น ผู้ป่วยบางคนนอนไม่ได้ ต้องตื่นมาปวดกันตอนประมาณตี 4 ตี 5 กันเลยทีเดียว
ลองชมรูป Digital Xray ที่หมอเอามาฝากครับ
ก็จะเห็นภาพว่ามีหินปูน เกาะตัวอยู่บริเวณเหนือข้อไหล่ ขนาด 8.7 mm และเมื่อได้ทำการ อัลตร้าซาวนด์ เพื่อประเมินเส้นเอ็น ก็จะพบว่า การอักเสบของเส้นเอ็น Bicep โดยมีอาการบวมของเอ็นในข้อไหล่ และมีรูฉีกขาดชัดเจนในเอ็นข้อไหล่
(ตรงบริเวณที่ลูกศรชี้ในวงกลมสีแดง จะเห็นว่ามีรูดำๆ อยู่ นั่นคือ รอยขาดครับ)
ชมคลิป การ อัลตร้าซาวนด์ หัวไหล่
โพสต์โดย คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ หาดใหญ่ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2020
สำหรับกรณีผู้ป่วยท่านนี้ ได้ผ่านการรักษามาหลายที่ หลายหมอ เป็นการรักษาโดยการฉีดยาเข้าข้อ แต่ไม่ได้ผล … แน่นอนครับว่าอาจเป็นได้ จากหลายสาเหตุเช่นกัน อาทิ
- การฉีดไม่ถูกจุด หรือการฉีดยาไม่เข้าข้อที่มีปัญหาจริงๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว เขาจะฉีดโดยใช้การทำและตำแหน่งตามกายวิภาค ซึ่งมีโอกาสไม่เข้าข้อสูง
- ภาวะที่มีอาการมากเกินไปจนยาเอาไม่อยู่
- คนไข้ไม่ได้หยุดพักการใช้งานอย่างที่ควรจะเป็น เพราะการรักษากรณีของข้ออักเสบ การบาดเจ็บ หรืออาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ ต้องใช้เวลารักษา และผู้ป่วยต้องมีวินัยในการดูแลรักษาอย่างจริงจัง จึงจะหายได้เร็วครับ
วิธีการรักษา ปวดข้อ หัวไหล่ จากหินปูน
1. ต้องพักการใช้งาน สำคัญมากครับ เมื่อมีอาการปวด ต้อง “หยุด” ทันที
2. หมั่นประคบเย็น
3. ทานยาแก้อักเสบที่ ไม่ใช่สเตียรอยด์
4. ควรตรวจประเมินซ้ำ และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
5. หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องฉีดยาแก้อักเสบเข้าข้ออีกครั้ง แต่ควรจะต้องเว้นระยะห่าง 3-6 เดือนขึ้นไป *** ตามความเห็นของหมอ หมอจะเลือกฉีดเมื่อมันสุดทางแล้วจริงๆครับ ต้องผ่านการทำทุกวิธีรักษาแล้ว ที่สำคัญคือ คนไข้ต้องเป็นเด็กดี ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหมอแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น หมอจึงจะยอมฉีดให้ครับ
6. หินปูนที่เกิดขึ้นนี้ หมอขอย้ำและบอกไว้ตรงนี้เลยว่า “ไม่มี” ยาสลายหินปูน ไม่ว่าจะเป็นยากิน หรือยาฉีดนะครับ บอกก่อนเลย หินปูนที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ในไหล่ไปอีกนานแสนนาน เราต้องดูแลการใช้งาน ให้ถูกวิธีครับ อย่าไปซีเรียสหรือคิดจะเอามันออกให้ได้นะครับ … เมื่อกำจัดมันไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีอยู่กับมันอย่างมีความสุข หรือทุกข์น้อยที่สุด ….
7. หากมีอาการปวดมากจริงๆ ทางเลือกสุดท้ายก็หนีไม่พ้น การผ่าตัดครับ เพื่อเอาหินปูนออก + เย็บซ่อมเส้นเอ็นครับ
ทั้งหมดนี้ เป็นขั้นตอนการรักษาที่ต้องใช้เวลา ทั้งสิ้น
การจะหายเร็วหรือช้า หลักๆ ที่สำคัญมาก คือ วินัย ในการดูแลรักษาของผู้ป่วยเอง โปรดจำไว้ว่า อาการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต หากเรารู้จักดูแลตนเอง ฝึกความอดทนในการรักษาตนเอง อาการเจ็บป่วย แม้จะต้องใช้เวลา แต่มันก็จะหายครับ
สุดท้ายแล้ว….
ไป กินก๋วยเตี๋ยวเรือกันไหมครับ เอ็นเปื่อย หมูตุ๋น ไม่งอก ไม่ผงชูรส เส้นเล็ก
(หมอหิวแล้วครับ ) 😀
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
You must be logged in to post a comment.