โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง ทับเส้นประสาท ส่วนคอ
ห่วงใยพี่ตูน … และห่วง (คอ) ทุกคน
สวัสดีครับ ทุกท่านคงจะทราบข่าวที่พี่ตูน Bodyslam ขวัญใจของพวกเรา ไม่สบาย เป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง ทับเส้นประสาท ส่วนคอ ซึ่งตอนนี้เข้ารับการรักษา อยู่ ณ รพ.พระมงกุฎ โดยการทำกายภาพบำบัด
หมอก็หวังว่าพี่ตูนจะหายวันหายคืนนะครับ หมอขอเป็นคนหนึ่งที่ส่งกำลังใจไปให้พี่ตูนนะครับ ผลจากการเจ็บป่วยในครั้งนี้ แน่นอนครับว่าส่วนสำคัญ คือ เกิดจากการที่พี่ตูนใช้งานกับร่างกายมามากมายจากโครงการวิ่ง #ก้าวคนละก้าว เส้นทางจากเบตงถึงแม่สาย ซึ่งหมอนับจำนวนครั้งไม่ได้ว่าเกิดแรงกระแทกขึ้นที่ข้อต่อในร่างกายพี่ตูนมากมายไปเท่าไหร่ สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นหลักหลายล้านครั้งครับ
นอกจากนี้ อาชีพนักร้องของพี่ตูน ทุกครั้งที่มีการแสดงคอนเสิร์ตหรืองาน MV ต่างๆ จิตวิญญาณของ Rocker ในตัวพี่ตูนยังถูกดึงออกมาใช้งานอีกด้วย นั่นคือการใช้งาน ข้อต่อส่วนคอ ด้วยการโยกหัวค่อนข้างมากทุกครั้งเวลาออกงานแสดงคอนเสิร์ต ด้วยเหตุนี้ยิ่งส่งเสริมให้กระดูกคอเสื่อมได้ง่ายขึ้นไปอีกครับ
โรค หมอนรองกระดูกสันหลัง ทับเส้นประสาท ส่วนคอ
( Herniated disc )
วันนี้หมออยากจะยกเคส ที่ใกล้เคียงกันกับอาการบาดเจ็บของพี่ตูน มาพูดคุยให้ได้รับทราบและรู้วิธีการป้องกันเอาไว้ เพื่อรักษาสภาพ กระดูกคอให้แข็งแรงครับ คนไข้ของหมอท่านนี้ เป็นคนไข้สาวสวย อายุ 45 ปี ซึ่งหมอได้ทำการรักษา และผ่าตัดจนหายเป็นปกติแล้วครับ
ประวัติของอาการ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ส่วนคอ
คนไข้เริ่มมี อาการปวดต้นคอ จนร้าวลงถึงแขน ประกอบกับมีอาการอ่อนแรง และได้ผ่านการรักษาโดยการใช้ยา และทำกายภาพ ประมาณ 6 เดือน ….. แต่อาการไม่ดีขึ้น และเมื่อมาพบหมอสุนทร หมอได้ทำการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้มีอาการอ่อนแรงโดยเฉพาะมือและแขน ทำให้ตัดสินใจได้ว่าหมอคงต้องลงมีดครับ !!!
โดยปกติแล้ว หมออยากอธิบายเล็กน้อยถึงอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นเหตุต้องเข้ารับการผ่าตัด โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ทับเส้นประสาท หลักจำง่ายๆ มีไม่กี่ข้อดังนี้ครับ
- มีอาการปวดแสนสาหัส รักษาโดยกระบวนการทางการแพทย์ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้นเลย ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการรักษา นานเป็นสัปดาห์ หรือนานเป็นเดือน ขึ้นไปแล้ว ยังไม่ดีขึ้น
- ผู้ป่วย มีอาการอ่อนแรง ( เหมือนในกรณีเคสที่ผมเอามาให้ดู) ซึ่งแปลว่า ภาวะการกดทับเส้นประสาทดภายใน “ค่อนข้างรุนแรง” จนทำให้ แขน มือ ไม่มีแรงในการใช้งาน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะทำให้คนไข้เกิดภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตแขนอย่างถาวรได้
- อาจมี สาเหตุอื่นๆ ในการกดทับเส้นประสาท เช่น จากโรคเนื้องอกของเส้นประสาทไขสันหลัง หรือ มีการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้เช่นกัน แต่ก็จะต้องพิจารณาในแต่ละกรณี
**ใน 3 ข้อบ่งชี้ข้างต้น จะเป็นคำตอบให้ได้ครับ ว่าขั้นตอนในการรักษา จำเป็นต้องผ่าตัด**
กรณีผล MRI โรค หมอนรองกระดูกสันหลัง ทับเส้นประสาท ส่วนคอ เคสผู้ป่วยสาวสวยวัย 45 ปี ท่านนี้ อธิบายตามภาพได้ดังนี้
รูปที่ 1 แสดงภาพไขสันหลังด้านข้าง :
จุดกดทับไขสันหลัง 2 ระดับ ตรงวงกลมสีแดง ปกติแล้วด้านหน้าและด้านหลัง จะมีพื้นที่สีขาวๆ ซึ่งเป็นถุงหุ้มไขสันหลัง (ระบายสีเขียว)
รูปที่ 2-3 แสดงภาพตัดขวางไขสันหลัง
ปกติไขสันหลังจะมีถุงหุ้มโดยรอบ (เส้นประสีเขียว) ในเคสของคนไข้ มีการกดทับจากหมอนรองกระดูกด้านหน้า (ลูกศรสีแดง)
จากรูปทั้ง 3 สามารถสรุปได้ว่าเคสนี้มีการกดทับไขสันหลัง 2 ระดับ
จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างมาก !!
นอกจากนี้ ในสังคมยุคปัจจุบัน ที่เราเข้าถึงโลกของโซเชียลมีเดียได้ง่าย ผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ห้ามมองข้าม นะครับ แน่นอนว่า นอกจากหมอ มีความเป็นห่วงอาการของพี่ตูนแล้ว หมอก็ยังห่วงทุกคนที่กำลังอ่าน Facebook หรือ เว็บไซด์ หรือทำกิจกรรมใดๆ ผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์มือถือ อยู่เช่นกันนะครับ ถ้าถามว่าทำไมนะเหรอ? (แต่ก่อนที่จะอ่านในย่อหน้าถัดไป หมอแนะนำว่าอย่าก้มอ่านหน้าจอมากครับ แต่ควรยกมือถือให้สูงๆ หน่อยครับ 🙂
สาเหตุที่หมอต้องแสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อสุขภาพคอของทุกคนเช่นกัน ก็เพราะว่า คนในปัจจุบันต่างเสี่ยงจากโรคนี้เกือบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้ใน เด็กเล็กๆ เด็กวัยรุ่น คนทำงาน หรือผู้สูงอายุ เพราะความเสี่ยงในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เกิดจากการใช้งานมากจากการทำงานอีกต่อไปแล้ว แต่สังคมก้มหน้า (คอหัก หักคอ) ในยุคปัจจุบัน นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่น่ากังวลครับ ลองสังเกตดูในกลุ่มเด็กๆ สิครับ เล่นทั้ง Facebook เล่นทั้งเกมส์ ROV ทำให้สมาธิ สายตาจดจ่ออยู่กับหน้าจอ ก้มหน้ามองจอมาก และเล่นนานมาก (ส่วนใหญ่ติดลม จนลืมตัวว่าก้มไปกี่นาทีแล้วครับ 5555555)
กรณีในกลุ่มคนทำงาน ยิ่งถ้าสาวๆ แล้วแน่นอนครับ Lazada ,Shopee IG Facebook Twitter มากมาย เราสูญเสียเวลาในการก้มคอในแต่ละวันมากครับ
ซึ่งการก้มคอมากๆ ในระยะเวลานานๆ นี่แหละครับ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคนี้ได้เช่นกัน กรณีนี้หมอขอเตือนว่าหากใครมีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ให้ลดการใช้สมาร์ทโฟนบ้าง เพราะนอกจากกระดูกคอจะเจ๊งแล้ว สายตาก็อาจจะเสียด้วยเพราะต้องเพ่งเป็นเวลานานถูกไหมครับ (อันนี้หมอตาฝากมาครับ)
การป้องกันไม่ให้เกิดโรค โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ส่วนคอ
และทรมานกับอาการเจ็บปวด จึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดครับ เล่นให้น้อยลงและอย่าเล่นนานจนเกินไป
สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคและเจ็บป่วย เกิดขึ้นแล้ว หากรักษาดีๆ ผู้ป่วยมีวินัย อาการก็ดีขึ้นได้ ในหลายเคส แต่ก็ไม่ทุกเคสเสมอไป และบางเคสการรักษาอาจจำเป็นจะต้องจบด้วย การผ่าตัด
ถ้าถึงขั้นผ่าตัด หมอจะรักษาอย่างไร ?
( ดูรูปภาพกราฟฟิกประกอบได้เลยครับ )
หมอขอยกตัวอย่างขั้นตอน การผ่าตัด โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง ทับเส้นประสาท ส่วนคอ อย่างคร่าวๆ ให้ได้อ่านกันสักนิด เผื่อจะได้เห็นภาพและเกรงใจ “กระดูกคอ” ของเรา กันบ้างนะครับ
วิธีการผ่าตัด คือ หมอก็จะนำหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทส่วนคอออก จนเมื่อเกิดช่องว่าง หมออาจจะต้องใช้กระดูกจริงจากบริเวณเชิงกรานมาใส่ทดแทน หรือใช้กระดูกเทียมที่ใช้ทางการแพทย์มาใส่แทนช่องว่างดังกล่าวครับ หลังจากนั้นจะต้องมีการยึดโดยการใช้เหล็กที่ออกแบบมาเพื่อยึดกระดูกบริเวณส่วนคอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง, เพิ่มโอกาสของกระดูกที่จะเชื่อมติดกัน ลดโอกาสของกระดูกที่ใส่เข้าไปใหม่ถอนตัวออกมา
(ดูรูป Xray ประกอบได้เลยครับ)
โดยส่วนใหญ่แล้ว การผ่าตัดคอ ถือได้ว่า เป็นการผ่าตัดใหญ่ ทางกระดูกและข้อ และมีความเสี่ยง ในระดับปานกลางถึงมาก ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่เป็น และขึ้นอยู่กับปัจจัยกายวิภาคพื้นฐานของคนผู้ป่วยแต่ละคนครับ นอกจากนี้ ระยะเวลา การฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละท่าน จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับกรณีดังนี้ครับ
1. คุณภาพและความสามารถในการฟื้นตัวของเส้นประสาทไขสันหลังของผู้ป่วยนั้นๆ ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุดครับ พูดง่ายๆ อยู่ที่ บุญ วาสนา ด้วยเลยครับ
2. หากเป็นมาไม่นาน และเข้าข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด คนไข้รับการผ่าตัดได้เรียบร้อยดี อาการมักจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังในคลิปเคสที่หมอเอามาแสดงให้ดู คนไข้โชคดีมาก ที่เส้นประสาทฟื้นตัวได้เร็ว แต่ยังไงซะ ยังคงต้องมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง หากไปใช้งานผิดประเภท หรือไม่ระมัดระวังนะครับ
ทั้งหมดทั้งมวล หากเรารู้จักวิธีป้องกัน รู้แล้วว่าสาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทส่วนคอ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราเจ็บป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อได้ เราก็ควรหลีกเลี่ยง หรือใช้งานคอเมื่อจำเป็น ทะนุถนอมคอของเราเพื่อที่จะได้ใช้ได้ยาวนานและไม่ต้องถึงมีดหมอนะครับ ^^
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
You must be logged in to post a comment.