ปวดหลัง ในผู้สูงอายุ … เรื่องใหญ่กว่าที่คิด
“อาการปวดหลัง ในผู้สูงอายุที่หมอตรวจพบเจอเป็นประจำนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม ตามวัยครับ แต่สำหรับกรณีของคนไข้หมอท่านหนึ่งในวันนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดครับ”
ปวดหลัง ในผู้สูงอายุ … เรื่องใหญ่กว่าที่คิด
เคสวันนี้ เป็นคุณตา อายุ 78 ปี ครับ คุณตา มีอาการปวดหลังเรื้อรังมา 3 ปีแล้ว มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ แต่เมื่อประมาณสัก 5 เดือนที่ผ่านมา อาการปวด แล้วไม่หายครับ แต่กลับมีอาการปวดหลังต่อเนื่อง ปวดมากกว่าเดิม แม้แต่ตอนนอนก็ยังปวด นอกจากนี้ยังมีอาการขับถ่าย ยากกว่าปกติร่วมด้วยครับ
คุณตา บอกว่าไป พบหมอกระดูกมาหลายคน บ้างก็วินิจฉัยว่าเป็น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ บ้างก็ว่าเส้นอักเสบ เอ็นจม กระดูกเสื่อมตามวัย และไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งคุณตาได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าได้ เอกซเรย์ ( X-ray ) กระดูกเอวมาแล้วด้วย เพื่อที่จะดูว่าตกลงป่วยเป็นอะไรกันแน่ และมีหมอเฉพาะทางด้านกระดูก 3 ท่าน บอกว่าไม่มีอะไร เป็นเพียงแค่กระดูกเอวเสื่อม ตามวัยเท่านั้น หมอบางท่านก็จะให้คุณตาฉีดยาอย่างเดียว โดยที่ไม่ทันได้ตรวจกันอย่างละเอียด หรือรับฟังการเล่าถึงอาการให้จนจบเสียก่อน
จนโชคชะตาพาคุณตามาพบกับหมอสุนทร สิ่งสำคัญที่สุดในการพูดคุยกับคนไข้ คือ “การรับรู้ ความรู้สึก” ของคนไข้ก่อนครับ เพราะหมอเข้าใจว่า ทุกคนที่มาหาหมอ ถ้าไม่ทุกข์กาย หรือทุกข์ใจกับอาการป่วย ก็คงไม่มีใครอยากมาพบหมอ หรือไปโรงพยาบาล จริงมั้ยครับ ?
จากที่หมอสังเกตเห็น คือ คุณตาดูมีความทุกข์มากๆ กับอาการปวด เพราะทำยังไงก็ไม่หายปวด มันเป็นความทรมานอย่างหนึ่งของคนไข้ทุกคน คุณตาบอกว่ารักษาทั้งกินยา ฉีดยา ทำกายภาพมามากมายสารพัดวิธี พบหมอมาแล้ว 5-6 คน ก็ยังไม่หายสักที เอกซเรย์ ก็ทำแล้ว หมอกระดูกหลายคนก็บอกว่าไม่มีอะไร ไม่ปวดมาก จะมาหาหมอทำไม ???
จริงๆ ทุกรายละเอียด มันบอกอยู่แล้วครับว่า…อาการของคุณตา
“ไม่ธรรมดา” แน่นอน สิ่งที่หมอต้องทำเป็นอย่างแรกเลย คือ ..
1 ให้เวลาคุณตาได้มีโอกาสเล่าอาการผิดปกติมาให้หมด เอาให้เคลียร์ๆ ประมาณว่าเอาให้ชัดครับ เพื่อที่หมอจะได้วินิจฉัยถึงสาเหตุของโรคที่มีความเป็นไปได้ รวบรวมมาให้ได้มากที่สุดก่อนครับ
2. ขั้นตอนในการยิงคำถามกลับไปที่คนไข้ครับ เลือกคำถามถึงอาการต่างๆ ที่คนไข้กลัวและเป็นกังวลที่สุด ในส่วนนี้ ให้ช่วยกันจำไว้เลยครับ เพราะมันมีประโยชน์มากๆ เช่น
- ปวดทรมานในช่วงเวลากลางคืนหรือไม่?
- หลับไปแล้วแต่ตื่นมาปวดกลางคืนหรือไม่?
- น้ำหนักลดแบบผิดปกติหรือไม่?
- เบื่ออาหาร จนทานไม่ได้หรือไม่?
3. ให้คนไข้ส่ง Xray มาใหม่ ขอภาพให้ครบทุกตำแหน่ง ทุกมุม ภาพไหนที่ไม่ชัด ก็ เอาจนชัด
4. ขอดูยาที่คนไข้เคยทานทั้งหมด เพื่อที่จะช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้ ทางอ้อม
หลังจากขั้นตอนที่หมอได้ขอและพูดคุยไปสรุปได้ว่าเคสของคุณตา สันนิษฐานในเบื้องต้นว่า อาจจะมี มะเร็งกัดกินกระดูกกระเบนเหน็บส่วนล่างครับ ผู้อ่านสามารถดู ภาพ เอกซเรย์ ประกอบได้ครับ คือ บริเวณจุดที่หมอวงสีแดงเอาไว้
ขั้นตอนต่อไป
หมอได้ส่งคนไข้ตรวจ MRI Scan เพิ่มเติม เพื่อจะได้เห็นภาพชัดขึ้น และพบว่าก้อนเจ้าปัญหาที่ว่ามีขนาดใหญ่เอาเรื่องมากๆ ประมาณ 12cm × 20cm และก้อนเจ้าปัญหายังมีการขยายตัว จนเริ่มเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ( หมอวงสีเขียวไว้ให้ดูครับ ) และนี่เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณตามีอาการถ่ายยากครับ
แม้ว่าคุณตาได้ทำการ เอกซเรย์ มาแล้ว แต่คุณหมอท่านอื่นๆ ไม่เห็น นั่นเป็นเพราะการ Xray ที่ทำมามีสาเหตุดังนี้ครับ ;
1. Xray ไม่ครบ ไม่ถึงจุดที่มีก้อน แต่กลับไปโฟกัสเฉพาะกระดูกเอว ไม่ได้โฟกัสกระดูกกระเบนเหน็บ
2. เอกซเรย์ ที่ทำมา เป็น Xray ฟิล์มแบบปกติ ไม่ใช่การ ภาพมัวมากและขาดความคมชัด อาจทำให้มองไม่เห็นถึงจุดที่เป็นปัญหาครับ
3. หมอคนก่อนๆ ไม่ได้ดูโดยละเอียด และ เคสนี้ ฟิล์มที่ถ่ายมา มันดูยากครับ เห็นขอบเนื้องอกแค่บางส่วนเท่านั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการที่ให้เวลาคนไข้เล่าอาการทั้งหมดให้หมอฟัง และหมอได้ส่งตรวจโดยละเอียดอีกครั้งจนมั่นใจ สรุปเคสคุณตาท่านนี้ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์ให้ถูกเฉพาะโรค เฉพาะทางต่อไปครับ
หมอจึงอยากสรุปให้ฟังว่า ในการตรวจรักษา จำเป็นที่จะต้องใส่ใจในรายละเอียด ปลีกย่อย รวมถึงการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความแม่นยำและทันสมัย ซึ่งมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยให้หมอวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องครับ
หมออยากแบ่งปันข้อมูลนี้ให้ทุกท่านได้รับทราบ เพราะในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมานี้ หมอเจอเคสคนไข้ที่มีอาการดังกล่าวประมาณนี้มา 6-7 เคส เลยครับ เป็นผู้สูงอายุ มีอาการปวดกระดูก แต่สุดท้ายเมื่อผ่านขั้นตอนการวินิจฉัย พูดคุยกันไป สอบถามอาการกัน … ก็พบว่า อาการปวดกระดูก ปวดนั่นปวดนี่ กลับกลายเป็นแค่อาการร่วมของโรคมะเร็ง ไม่ก็เกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นวัณโรคก็มีครับ
ดังนั้นแล้ว … ห้ามประมาทครับ โรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง ถ้ามองแค่ผิวเผิน อาจจะคิดว่าโรคทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว มันคืออาการร่วมของโรคที่ร้ายแรงกว่า เพราะฉะนั้น หากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเกิดกับตัวเราเอง หรือคนในครอบครัวที่เรารักและเคารพ เราไม่ควรนิ่งเฉย แต่ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยนาน ยิ่งรักษายาก แทนที่จะทานยาแค่ในระยะเวลาสั้นๆ กลับกลายเป็นว่าอาจจะต้องทานยาทั้งชีวิตก็ได้ครับ
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
You must be logged in to post a comment.