การรักษาโรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดย “ไม่ผ่าตัด” ตอนที่ 1
“รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ”
หมอขออนุญาตยืม กลอนตอนหนึ่ง ของบรมกวี สุนทรภู่ มากล่าวนะครับ การรักษาที่ดีที่สุด คือ การเข้าใจในโรค อย่างถ่องแท้ และดูแลตัวเองอย่างถูกต้องครับ
ในหัวข้อ การรักษา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดย “ไม่ผ่าตัด” หมอขอแบ่งเป็น 3 ตอน นะครับ อยากจะแนะนำอย่างละเอียดสุดๆ ครับ ซึ่งแนวทางการรักษาที่กล่าวทั้งหมด จะเป็น วิธี “ไม่ผ่าตัด” เป็นหลัก นะครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า โรคกลุ่มนี้ สามารถรักษาโดยวิธี ไม่ผ่าตัด ได้ผลดีถึง 70 – 90 % ส่วนที่เหลืออีก 10 – 30% ของผู้ป่วยรายที่มีอาการหนักมาก ก็อาจจำเป็นจะต้องผ่าตัดครับ
สำหรับ ในตอนที่ 1 จะเป็น คำแนะนำเบื้องต้น ในการดูแลรักษา , การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของหลัง และในตอนต่อๆ ไป จะมีการใช้ยา และการฉีดยาต้านการอักเสบเข้าโพรงเส้นประสาท ครับ
มาตั้งใจอ่านกันเลยครับ…….
การดูแลรักษา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เบื้องต้น
- ลดการใช้งาน “หลัง” ให้มากที่สุด งดการ ก้มๆเงยๆ แนะนำให้นอนราบ นอนพักอย่างต่อเนื่อง (ตามตำราหมอให้นอนอย่างเดียวเลยครับ 2 วัน ลุกขึ้นเฉพาะ เวลาเข้าห้องน้ำและทานอาหารเท่านั้นเลยครับ)
- ใส่เข็มขัดพยุงหลัง แนะนำแบบรัดเอว ขณะต้องใช้งาน ออกกำลังกายหรือเดินทางไกล ไม่แนะนำให้ใส่ตลอดเวลาครับเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลัง ลีบ อ่อนแรง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทาง อิริยาบถ ในการทำงาน อันนี้สำคัญมากๆ ครับ หมอขอแนะนำกด google
เปิดหา เช่น ท่าทางการนั่งทำงานที่ถูกต้อง , ท่ายกของหนักที่ถูกต้อง และอยากรู้เรื่องอะไรก็หาได้เลยครับ ส่วนใหญ่จะมีภาพประกอบ เข้าใจง่าย แต่…..ควรเปิดหาอ่าน ในเว็บไซด์ ที่เชื่อถือได้ และ ควรเปรียบเทียบ อย่างน้อยๆ 2-3 เว็บไซด์ นะครับ ถ้ายัง งง แนะนำไปปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านครับ
- เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสม เรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะ พนักงาน office หรือคนที่ต้องนั่งรถ หรือขับรถนานๆ ครับ คงไม่มีบริษัทไหน ซื้อเก้าอี้ตัวละหลายพันหรือเป็นหมื่นๆ บาท มาให้ทุกคนใช้ ใช่ไหมครับ ทางแก้ง่ายนิดเดียว ครับ หาหมอน ขนาดเหมาะสม 1 ใบ เอามารองบั้นเอวครับ เลือกหมอนที่นั่งแล้วสบายเอวนะครับ เพราะ เอวแต่ละคนไม่เหมือนกัน (คล้ายกับ ตามหารักแท้ นั่นแหละครับ แต่ตามหาหมอนง่ายกว่ามาก … ฮา… )
- การทำ กายภาพบำบัด แนะนำให้ทำ ในโรงพยาบาล ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เท่านั้นครับ ย้ำเตือนเลยนะครับ !!! บางโรคไม่ใช่ว่าจะทำแล้วดีขึ้นนะครับ หลายเคส ยิ่งทำกายภาพ ยิ่งปวดหนักกว่าเดิม !! ดังนั้นนะครับ ก่อนที่จะทำกายภาพบำบัด ควรผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เสียก่อนครับ แล้วจึงเลือกชนิดของการ กายภาพบำบัด ที่เหมาะสมครับ
ตัวอย่างการทำกายภาพบำบัด ; เช่น ประคบร้อน ประคบเย็น , ดึงหลัง , ฝังเข็ม , TENs (กระตุ้นด้วยไฟฟ้า) , Shock wave (กระตุ้นด้วยคลื่นเสียง) , Laser เยอะมากมายเลยใช่ไหมครับ ดังนั้น
หมอจึงขอยืนยันว่าต้องตรวจกันก่อน
แล้วจึงเลือกวิธีกายภาพบำบัดที่เหมาะสม เป็นรายๆ ไป นะครับ
- ที่นอน ปัญหายอดฮิต ว่า ยี่ห้อไหนดี ? โดยส่วนตัวแล้ว หมอขอแนะนำ ที่นอน ที่ผลิตจากยางพารา เนื้อแน่นๆ นุ่มพอดีๆ ครับ เวลาไปซื้อ แนะนำ นอนลงไปเลย (ขอมันต้องลอง) นานๆครับ สัก 10 -15 นาที ยิ่งดีครับ แล้วคอยรับความรู้สึกว่า สบายหลังไหม ? ลุกขึ้นมาแล้วปวดหลังหรือไม่ เลือกยี่ห้อ ที่มีบริการหลังการขาย มีการรับประกันนานๆ ยิ่งดีเลยครับ
- ประคบร้อน Vs ประคบเย็น เลือกแบบไหนดี ? อันนี้ก็ตัดสินยาก เช่นกันครับ โดยส่วนตัว หมอให้ คนไข้ทดลองทั้ง 2 แบบ ถูกใจแบบไหน เลือกแบบนั้นครับ เหตุผลเพราะ การรับความรู้สึกของแต่ละคนแตกต่างกัน และในแต่ละช่วงเวลาก็อาจชอบไม่เหมือนกัน ตามหลักการทางการแพทย์ ในช่วงแรกที่มีการอักเสบมากๆ จะแนะนำ ประคบเย็นก่อนนะครับ (ส่วนใหญ่จะใช้ ไม่เกิน 5-7 วัน ) หลังจากนั้นอาจพิจารณาเปลี่ยนไปใช้การประคบร้อนครับ แต่หากผู้ป่วยรายใด ชอบการประคบเย็นมากกว่า หมอก็อนุญาติ ให้ใช้ประคบเย็น ต่อเนื่องยาวๆไปเลยครับ (ได้หมดถ้าสดชื่นครับ 555 )
“อย่าไปค้นหาอะไรที่ดีที่สุด แต่จงค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด”
ถ้ายังอ่านไม่เหนื่อย สามารถติดตามอ่านต่อ ในตอนที่ 2 เลยครับ หมอจะเล่าให้ฟังในเรื่องเกี่ยวกับ “สารพัดยา” ที่ใช้รักษาในกลุ่มโรคนี้แหละครับ
คลิ๊กค้นหา ข้อมูลเพิ่มเติม
โดย นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
You must be logged in to post a comment.