การดูแล รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เบื้องต้น และการรักษาทางการแพทย์
การดูแลรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม เบื้องต้น และการรักษาทางการแพทย์ การใช้ยา และการผ่าตัด จากบทความตอนที่แล้วเรื่อง ปวดเข่า จาก โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งทำให้เราได้ทราบถึง อาการปวดเข่า จากโรคข้อเข่าเสื่อม และสาเหตุของโรค กันไปแล้วนะครับ ในบทความนี้ เป็นภาคต่อ คือ วิธีการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในเบื้องต้น ด้วยตัวเอง รวมถึง การรักษาทางการแพทย์ เช่น การใช้ยา และการผ่าตัด ครับ
การดูแลรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม เบื้องต้น
- ลดการใช้งาน พัก พัก พัก ให้มากๆ เลยครับ
- หลีกเลี่ยง ท่าที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ นั่งพับเพียบ งอเข่า คุกเข่า นั่งยองๆ การขึ้นลงบันได (อันนี้ ทำเท่าที่จำเป็น ) การยืนนานๆ
- วันไหนปวดมากๆ ประคบเย็น เท่านั้น !!! ย้ำ !!! เย็น เท่านั้นครับ โดยหวังผล ลดอาการอักเสบภายในข้อ ให้ลดลงโดยเร็วที่สุดครับ
- ใช้อุปกรณ์ สนับเข่า หรือการใช้ไม้เท้า ช่วยเสริมเวลาเดิน แต่ หนุ่มๆ สาวๆ วัยนี้ มักจะอายครับ เวลาใช้อุปกรณ์ไม้เท้า อาจจะเป็นการใช้ร่มที่มีจุกยางที่ส่วนปลายร่ม เพื่อกันลื่นครับ บางรุ่นมี ไฟฉายที่ด้ามจับด้วย อันนี้ก็ work ครับ ไอเดียดี
- เมื่อหายจากอาการปวดแล้ว แนะนำ เริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่า อย่างค่อยเป็น ค่อยไป นะครับ ห้ามทำมากเกินไป เดี๋ยวจะอักเสบได้อีกครับ (ต้องคอยเตือน วัยรุ่นเขาครับ ส่วนใหญ่ ร้อยทั้งร้อย ใจร้อนสุดๆ ครับ )
- สุดท้ายเลยครับ การ ลดน้ำหนักตัว … อันนี้คือการแก้ปัญหาจากต้นน้ำได้ดีที่สุด แต่ยากไม่น้อยเช่นกัน เพราะอาจต้องใช้เวลานาน ที่สุดครับ คงไม่ได้หวังว่า ลดจนรูปร่าง สเลนเดอร์ ไปประกวดนางสาวไทยได้ครับ 555 เอาพอดีๆ สมส่วนกับความสูง หมอว่า ลงตัวที่สุดแล้ว และเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อกระชับ ซึ่งจะส่งผลให้ เดินคล่องตัวขึ้น เจ็บน้อยลง ลดโอกาสการหกล้ม เพิ่มคุณภาพชีวิตครับ
การรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม
ทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น การใช้ยา และการผ่าตัด
การใช้ยา รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
- ยาแก้ปวด กลุ่มพาราเซ็ตตามอล ( PARACETAMOL ) เป็นยากลุ่มแรกๆ ที่พิจารณาใช้ หวังผลลดอาการปวดของคนไข้
- ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( NSAIDs ) เป็นกลุ่มยาหลัก ที่ใช้กันแพร่หลาย ในโรคทางกระดูกและข้อ ใช้เพื่อลดอาการอักเสบ ในข้อ และช่วยบรรเทาอาการปวด ควรใช้ยากลุ่มนี้ในระยะเวลาสั้นๆ อาจมีผลข้างเคียงเรื่อง ปวดแสบท้อง จึงควรทานหลังอาหารทันที ในบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาป้องกันกระเพาะอาหาร ทานควบคู่ไปด้วยครับ
- ยากลุ่ม ยาคลายกล้ามเนื้อ ( Muscle Relaxant ) เป็นกลุ่มยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ยาบางตัวมีส่วนผสมของกลุ่มพาราเซ็ตตามอลร่วมด้วย เช่น นอร์จีสิค ( Norgesic ) , นอร์เฟ็ลค ( Norflex ) , มายโดคาม ( Mydocalm ) , มายโอนัล ( Myonal ) , เซอร์ดาหลูด ( Sirdalud ) , บาโคเฟ่น ( Baclofen ) ยากลุ่มนี้ มักพบ ฤทธิ์ข้างเคียง ง่วงนอน มึนงง ปากคอแห้ง ตาแห้ง ได้ จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำครับ
- ยากลุ่ม อนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ทรามาดอล ( Tramadol ) ใช้ลดอาการปวด แต่มักเกิดอาการข้างเคียง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน บ้านหมุนได้ มักใช้ยากลุ่มนี้เมื่อมีอาการปวดมากๆ หรือใช้ในกรณี พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ยากลุ่มนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้โดยแพทย์เท่านั้น
- กลุ่มยาชะลอการเสื่อมของข้อ ( SYSADOA ) อาทิ เช่น กลูโคซามีน ซัลเฟต , ครอนดรอยติน เป็นกลุ่มยาที่ออกแบบมาเพื่อลดกระบวนการทำลายของข้อ เพิ่มกระดูกอ่อนผิวข้อ เพิ่มน้ำหล่อลื่นข้อ ใช้ได้ผลในกรณีที่ ข้อเข่าเสื่อม ระยะเริ่มต้น มีผลข้างเคียงน้อย
- การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม เป็นการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม โดยตรง ใช้ในกรณีที่ ใช้ยาชนิดทานแล้วไม่เห็นผล มีผลข้างเคียงน้อย มีหลายความหนาแน่น ปกติหมอจะเลือกใช้ ชนิดที่มีความหนาแน่นปานกลางถึงสูง เพื่อหวังผลลดอาการปวดได้รวดเร็วและยังช่วยกระตุ้นให้ ข้อเข่าสร้างน้ำเลี้ยงข้อเข่าตามธรรมชาติมากขึ้น หากตอบสนองการรักษาดี อาจมีฤทธิ์ บรรเทาอาการปวดได้ เกือบ 1 ปี
- การฉีด เกล็ดเลือดปั่น ( Platelet Rich Plasma – PRP ) เป็นการเจาะเลือดของคนไข้ แล้วนำมามาผ่านกระบวนการปั่นและกระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือด แล้วฉีดเฉพาะชั้นเกล็ดเลือด เข้าไปในข้อเข่า เชื่อว่ามีสารกระตุ้นการเติบโตของเซลล์เนื้อเยื่อ (Growth Factor ) หวังผลกระตุ้นเซลล์กระดูกอ่อนในข้อเข่า ซ่อมแซมผิวข้อที่สึกหรอ เหมาะสำหรับ ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก เท่านั้น แพทย์ต้องเลือกคนไข้ที่เหมาะสม กับการรักษาชนิดนี้โดยละเอียด ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาทา
- การแพทย์ (ข้อมูล ปี 2562 )
วิดีโอ สัมภาษณ์ผู้ป่วย หลังจากได้รับการ “ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม”
การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
จริงๆ แล้วมี ชนิดการผ่าตัด 4 ประเภท ดังนี้
1 Arthroscopic Surgery การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อล้างเศษกระดูก และกรอผิวข้อ มีที่ใช้น้อย เหมาะสำหรับบางกรณีเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน แล้วมีเศษกระดูกลอยขัดอยู่ภายในผิวข้อ
2 Arthrodesis เป็นการผ่าตัด เชื่อม ข้อเข่า ใช้ในอดีต ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ข้อเข่าติดเชื้อ ข้อเข่าเสื่อมจากโรคทางเส้นประสาทรับสัมผัสผิดปกติ ( Charchot Joint Arthropathy )
3 Corrective Osteotomy เป็นการผ่าตัดปรับมุมผิวข้อ โดย แพทย์จะทำการตัดกระดูก เพื่อปรับแนวขาใหม่ โดยหวังผลปรับการกระจายแรงกะแทกต่อผิวข้อ และต้องดามเหล็กยึดตรึงกระดูก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุน้อย ที่มีปัญหา ขาวง ขาผิดรูป และมีอาการปวดข้อเข่ามายาวนาน ไม่ตอบสนองจากการรักษาด้วยยาต่างๆ ผลข้างเคียงของการผ่าตัดชนิดนี้ คือ อาจเกิดภาวะกระดูกไม่เชื่อมต่อกัน ปัญหาจากเหล็กยึดตรึงกระดูก และในระยะยาว มีโอกาสที่ข้อเข่าเสื่อมสภาพมากขึ้น ทำให้กลับมามีอาการปวดอีก และหากต้องมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในอนาคต จะเพิ่มโอกาส การติดเชื้อของแผลผ่าตัดมากกว่าคนไข้ที่ไม่เคยใส่เหล็กมาก่อน
4 Total Knee Arthroplasty เป็นการผ่าตัดมาตราฐาน ที่ได้ผลดีที่สุด ในโรคข้อเข่าเสื่อมระยะท้าย ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั่วโลก เป็นการผ่าตัด นำเฉพาะผิวข้อที่เสื่อมออก แล้วแทนที่ด้วย ผิวข้อเข่าเทียมในประเทศไทย มีการทำผ่าตัดวิธีนี้ ประมาณปีละมากกว่า 10,000 ราย ปกติแล้ว หมอจะเลือกวิธีการผ่าตัดชนิดนี้ ให้แก่ผู้ป่วย เพราะเป็นมาตราฐานสูงสุด ได้ผลการรักษาที่ดี ซึ่งชนิดของข้อเข่าเทียมก็มีหลายรุ่น มากมาย มีที่ใช้แตกต่างกันออกไป โดยดูจากความเหมาะสมในแต่ละเคสเป็นสำคัญ
อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมรุ่นมาตราฐาน
โดยเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 10 – 20 ปี
ในเรื่องของอายุการใช้งานของ ข้อเข่าเทียมรุ่นมาตราฐาน โดยเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 10 – 20 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัยครับ อาทิ เช่น พฤติกรรมการใช้งานข้อหลังผ่าตัด , น้ำหนักตัว , คุณภาพของกระดูกที่รองรับ ซึ่งข้อเข่าเทียมรุ่นดังกล่าวเป็นวัสดุ โคบอลต์โครเมียม และ ไททาเนียม เป็นพื้นฐานครับ และไม่ก่อให้เกิดอาการปวด หากอยู่ในที่ อุณหภูมิหนาวเย็นครับ
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาวัสดุมากมายเอามาสร้างเป็นองค์ประกอบของผิวข้อ มีการนำวัสดุเซรามิกมาสร้างผิวข้อเคลือบผิวแบบเดิม ซึ่งจากการทดลองพบว่า สามารถเพิ่มอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม อาจยาวนาน ถึง 20 – 30 ปี ซึ่งในประเทศไทยก็มีการใช้ข้อเข่าเทียมผิวเซรามิก อย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้แล้วยังมีการพัฒนา ในส่วนพลาสติกความหนาแน่นพิเศษ ( Ultrahighmolecular weight Polyethene ) มีการเติมสารต่างๆ เช่น วิตามิน E , สารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อวัตถุประสงค์ ในการเพิ่มความทนทาน เพิ่มอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมให้ยาวนานที่สุด
สรุปแล้ว การรักษาโดยการผ่าตัด หมอขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ครับ และขอแนะนำให้ ตรวจรักษาโดย แพทย์เฉพาะทางด้าน กระดูกและข้อ โดยตรง เพื่อจะได้รักษา ถูกโรค ถูกหมอ และถูกใจครับ
บทความโดย นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
You must be logged in to post a comment.