ปัญหา เท้าแบน เท้าแป เท้าเป็ด (FLAT FEET) ส่งผล กับร่างกาย อย่างไร ?
( ก่อนจะอ่าน กรุณา ยืนตรง เท้าเปล่า บนพื้นราบ ครับ 555 )
เคยเจอกันไหมครับ เท้า อะไร นี่ ? ตอนนี้หมอขอแนะนำลองยืนขึ้น เท้าเปล่า บนพื้นเรียบแข็ง และสังเกต ตรง ขอบด้านในของฝ่าเท้าครับ ในคนที่ฝ่าเท้าปกติ จะมีส่วนโค้งของฝ่าเท้าด้านใน นิดหน่อย (Normal Arch) และทำให้เกิดเป็นลักษณะคล้าย เป็นรูเล็กๆ อาจจะสามารถสอด ด้ามปากกาเข้าไปได้ แต่ถ้าคนที่ มีลักษณะ ปัญหา เท้าแบน จะไม่มีส่วนโค้งส่วนนี้ ขอบฝ่าเท้าด้านในจะเรียบสนิทแปะลงไป ชิดกับพื้น เลยครับ (ดูรูปประกอบ) แต่ในบางคนอาจเป็นไม่มาก อาจจะยังมีส่วนโค้งอยู่ แต่ไม่มากเท่าคนปกติ
ทำไม เท้าแบน จึงเป็นปัญหา ?
เมื่อมีภาวะ ปัญหา เท้าแบน จะทำให้เกิดแนวแรงกระแทก เวลาเดิน หรือลงน้ำหนัก เปลี่ยนไป ไม่ตั้งฉากกับพื้นโลก ทำให้ เส้นเอ็น และ ข้อต่อ ต่างๆ เกิดแรงกระแทกที่ไม่สมดุล และส่งผลให้เกิดการอักเสบ มีอาการปวด ตามแนวเส้นเอ็น และข้อต่อ โดยเฉพาะ เส้นเอ็นร้อยหวาย ส้นเท้า และข้อเท้า ดูรูปประกอบเลยครับ
- รูป A แสดง แนวแรงที่เปลี่ยนไป ในผู้ป่วยเท้าแบน แนวแรงจะเฉียงออก ไปทางด้านข้าง (ลุกศรสีฟ้า )
- รูป B แสดง แนวแรง ในเท้าคนปกติ แนวแรงจะตั้งฉากกับ พื้นโลก ภาวะนี้ จะเรียกว่า “ โรค “ ก็ไม่เชิงครับ เป็นเพียงความผิดปกติของโครงสร้างฝ่าเท้า จากที่หมอได้ตรวจคนไข้ พบเจอภาวะนี้ อาทิตย์นึง ประมาณ 2- 3 คน และส่วนใหญ่ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าตัวเองมีเท้าแบน ซ่อนอยู่ครับ และอาการที่มาส่วนใหญ่แล้ว คือ ปวดส้นเท้า ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดฝ่าเท้าด้านใน เดินไม่ทน เมื่อยล้า ฝ่าเท้า ข้อเท้า บ่อยๆ ซึ่งอาการแตกต่างกันไป ตามลักษณะการใช้งาน และการลงน้ำหนัก
ประเภท ของ เท้าแบน มีอะไรบ้าง ?
มี 2 ค่าย ครับ แกรมมี่ กับ อาร์เอส …. .เอ้ย ไม่ใช่ครับ ประเภท ของ เท้าแบน มี 2 รูปแบบตามนี้….ครับ
เท้าแบน แบบที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด [ Congenital Flatfeet ]
อันนี้เรียกง่ายๆ “เท้าแบนรุ่นมรดก“ ครับ 555 และมักตรวจเจอในครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ พี่น้องอาจมีเท้าแบนร่วมด้วยนะครับ อันนี้เจอบ่อยมากๆๆๆๆ ครับ มักเจอในเด็กๆ ที่มักมีกิจกรรม วิ่ง กระโดด เล่นกีฬาแล้วปวดขึ้นมาครับ
เท้าแบน แบบที่เป็นภายหลัง [ Secondary Flatfeet ]
อันนี้ มักมีสาเหตุมาจาก การมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ข้อเท้าเสื่อม โรครูมาตอยด์ อาจมีประวัติกระดูกข้อเท้าหักรุนแรงมาก่อน หรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเส้นประสาททำให้ไม่สามารถควบคุมการทำงานของเท้าได้ตามปกติ เป็นต้น และส่งผลให้ระบบเส้นเอ็น กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ จนเกิดเท้าแบนภายหลัง
อาการและการตรวจประเมินฝ่าเท้า
ส่วนใหญ่แล้ว มักมีอาการ หลังจากไปใช้งานมา เช่น ออกกำลังกาย เดินไกลๆ เดินในพื้นที่ขุรขระ ในหลายๆเคส ไม่มีอาการเลยก็มีครับ แต่จะรู้สึก ใส่รองเท้าแล้ว ไม่กระชับ หาซื้อรองเท้าที่ใส่แล้วสบาย ยาก ส่วนอาการที่พบเจอบ่อย สรุปได้ประมาณนี้ครับ
– ปวด ตึง ส้นเท้า ฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวาย โดยเฉพาะหลังจากไปใช้งานมา
– ปวด บวม ตึงฝ่าเท้าด้านใน
– ฝ่าเท้าด้านใน อาจ บวมนูนขึ้น อาจคลำได้ ปุ่มกระดูกแข็งๆ และอาจ กดเจ็บบางครั้ง
– เดินไกลๆ แล้วมีอาการ เมื่อยล้า ฝ่าเท้า น่อง เป็นๆ หายๆ อยู่บ่อยครั้ง
– เดินในพื้นที่ขุรขระ แล้วมี ความรู้สึกเหมือน เท้าไม่มั่นคง หรืออาจอาการมีเท้าแพลงได้บ่อยครั้ง
– พื้นรองเท้าที่ใส่ ชำรุด สึกหรอ เร็วกว่าปกติ และลักษณะการสึกของพื้นรอง เท้า จะสึกขอบด้านในของฝ่าเท้า มากกว่า ขอบด้านนอก (ข้อนี้สำคัญครับไปพลิกพื้นรองเท้าดูได้เลยครับ) เวลาหมอตรวจประเมินฝ่าเท้า ที่สำคัญที่สุด จะประเมินว่า ภาวะเท้าแบน ที่มีนั้น เป็นแบบ “ ยืดหยุ่น “ [ Flexible Flatfeet ] หรือ แบบแข็ง [ Rigid Flatfeet] ซึ่ง หากเป็นแบบหลัง อันนี้ ซีเรียสครับ เพราะมักจะมีอาการมาก และอาจต้องแก้ไข โดยการผ่าตัด
!!! ข่าวดี !!! โดยส่วนตัวแล้ว ที่หมอพบบ่อย เกิน 90% เป็นแบบยืดหยุ่นนะครับ อย่าคิดมากเกินไปครับ
การรักษา ปัญหา เท้าแบน
ที่หมอจะกล่าว ต่อไปนี้ เน้นการรักษา ปัญหา เท้าแบน โดย ไม่ผ่าตัด เป็นหลัก นะครับ ( เพราะหากเป็นกลุ่ม เท้าแบน แบบแข็งต้องพิจารณาวิธีการผ่าตัดเป็นรายๆไป )
1. ลดการใช้งาน สำคัญที่สุด ครับ และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ไม่ควรยืน เดินนาน ๆ เกินไปครับ หมั่นยกขาสูง
2. ใช้รองเท้าสำหรับเท้าแบน หรือ ใช้แผ่นรองเสริมสำหรับเท้าแบนในรองเท้า อันนี้สำคัญ เบอร์ 2 เพราะ คนเราต้องเดินทุกวันครับ เลี่ยงไม่ได้ ข้อนี้พูดง่าย แต่ทำยากครับ ต้องตามหา รองเท้า และ แผ่นรองเสริม ที่กล่าวไป เพราะแต่ละ บริษัททำออกมา ใช่ว่า ใส่แล้วจะ พอดิบพอดี กับเท้าของแต่ะคน โจทย์ข้อนี้ ขอแนะนำให้ “ ตามหา กับทดลอง “ ถ้าเจอ รุ่นที่เข้ากันได้กับ ฝ่าเท้าเรา ใส่แล้ว OK หมอแนะนำ เหมาไว้สักหน่อยครับ เพราะ หาเจอที่ work กับฝ่าเท้าเรา ไม่ใช่ง่ายๆครับ
3. พิมพ์ฝ่าเท้า แล้วเอาไปทำ แผ่นเสริมรองเท้า หรือตัดรองเท้า… อันนี้ มีที่ใช้ในกรณี จนมุม หรือหมดหนทางหารองเท้าที่ใช่ คือ หาตาม ข้อ 2 ไม่เจอ หรือ เท้าแบน บิดเบี้ยวค่อนข้างมาก แน่นนอน made by order แบบนี้ ราคาก็จะสูง ในระดับนึงครับ และ บางครั้งทำออกมาอาจไม่โดนใจ วัสดุที่ใช้ ฝีมือช่างก็แตกต่างกัน คงต้องพิจารณา profile ของแต่ละบริษัท ร่วมด้วยว่า ทำออกมาได้ดี หรือไม่
โดยส่วนตัว ที่เคยเห็น รองเท้าที่ตัดๆ มา …….มาน ไม่เท่ ไม่งาม เลยครับ จบที่ วางทิ้งไว้ ไม่ใส่ ก็หลายรายครับ ข้อนี้คงต้อง plan ดีๆ หาข้อมูลแน่นๆ ก่อนลงมือทำครับ
4. ออกกำลังกาย ยืดเส้นเอ็น หลักๆ ที่ ทำกันบ่อย คือ บริหาร เอ็นร้อยหวาย [ TA tendon ] เอ็นนิ้วหัวแม่เท้า [ Flexor Hallicis Longus Tendon : ชื่อเล่นว่า FHL ครับ ]
หลักการสำคัญ คือ บริหาร ให้เส้นเอ็น ดังกล่าว แข็งแรง ยืดหยุ่นมากขึ้น และหวังผลอาจทำให้ ส่วนโค้งของฝ่าเท้า กลับมามีความโค้งได้บางส่วน มาดูตาม รูปประกอบกันเลยครับ
ท่านี้ ให้ ใช้นิ้วเท้า จิก หยิบผ้าขนหนู ขึ้นมาจากพื้น ทำบ่อยๆ ได้เลยครับ
ท่านี้ ให้ทำการ เขย่งเท้า ขึ้นครับ แล้วค้างไว้ 20 – 30 วินาที
อันนี้ ตามสะดวกนะครับ ทำใหม่ๆ อาจจะ ยังไม่เก่ง อาจค้างไว้ 10-15 วินาที ก่อนก็ได้ครับ ถ้า เก่งแล้ว ก็เพิ่มระยะเวลาได้ตามสบายครับ
ท่านี้ มีอุปกรณ์เสริม Ball message
อาจใช้ ลูกเทนนิส เก่าๆ หรือใช้ ผ้าขนหนู มาม้วนเอาครับ เวลาบริหาร ให้ออกแรงกด ตรงฝ่าเท้า และพยายามจิกนิ้วเท้าลงครับ จริงๆท่าบริหารมีอีกมากมายครับ แนะนำกดหา จาก google ได้เลยครับ *** แต่ขอแนะนำ บริหารแบบพอดี พอดี ค่อยเป็นค่อยไป นะครับ ไม่งั้นอาจจะเจ็บมากขึ้นได้ครับ
5. รักษาด้วยยา อันนี้ก็เป็นการรักษาตามอาการครับ หมอจะจ่ายยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายเส้น หมอแนะนำให้ทานยาเหล่านี้ ระยะเวลาสั้นๆ ครับ หากอาการทุเลา แล้วหยุดยาได้ทันทีครับ
6. รักษาโรคต้นเหตุ …..อันนี้คือ กลุ่มโรคเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง นะครับ ที่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ นำมาก่อน เช่น หากมีโรครูมาตอยด์ ก็คงต้องไปรักษากับหมออายุรกรรม โรครูมาติสซั่ม หรือหมอกระดูก, หากมีภาวะข้อเท้าเสื่อม อาจต้องทานยาชะลอการเสื่อมของข้อ บางรายอาจต้องประยุกต์ ฉีดน้ำไขข้อเทียมเข้าไปในข้อเท้าที่เสื่อมโดยตรง ครับ
7. ทำกายภาพบำบัด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายครับ เช่น Shock Wave (กระตุ้นด้วยคลื่นเสียง) , TENs (กระตุ้นด้วยไฟฟ้า) , การฝังเข็ม ทุกๆอย่าง ที่ทำ หมอหวังผล ลดอาการปวด ตึง บริเวณเท้า นะครับ ไม่สามารถ นำมาแก้ไข รูปเท้าให้กลับมาตรงได้ครับ
เท้าแบน ไม่รักษา ได้มะ ???
คำถามนี้ หมอก็โดนถามบ่อยครับ คำตอบไม่ตายตัว กล่าวคือ หากเท้าแบนไม่มาก อาการไม่เยอะ ก็เอาที่สะดวกครับ แต่หากมีอาการแล้ว แนะนำ ต้องดูแล ครับ ไม่เช่นนั้นแล้ว เท้าแบน อาจส่งผลในระยะยาว ทำให้เกิดปัญหากับร่างกาย ดังนี้
เท้าแบนมากขึ้น มีอาการ หนักและบ่อยมากขึ้น ส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน
อาจทำให้ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง ทำงานหนักมากขึ้น และนำมาสู่ ข้อกระดูกเสื่อม ก่อนวัยอันควร
ฝ่าเท้า ที่บิดเบี้ยว มากขึ้น อาจส่งผลให้ โครงสร้างนิ้วเท้า บิดผิดรูปได้ ส่งผลเสียกับ โครงสร้างส่วนอื่นๆ ของฝ่าเท้า
สรุปแล้ว….
ภาวะ เท้าแบน ไม่ได้น่ากลัวอะไร เพียงแต่ ต้องรู้จัก และเลือกปรับการใช้งานอย่างเหมาะสมครับ สามารถใช้ ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ วิ่งได้ เที่ยวได้ ไป ลัลล้า ต่างประเทศได้ ครับ …. และไม่ส่งผลกระทบในระยะยาวอีกด้วย
บทความโดย นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
You must be logged in to post a comment.