ปวดเข่า จาก โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ใช่โรคที่พบเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เท่านั้น
ปัจจุบันพบว่า อาการ “ปวดเข่า” จากปัจจัยต่างๆ ที่สามารถส่งผลให้เกิด โรคข้อเข่าเสื่อม สามารถพบได้ในกลุ่มที่มีอายุยังน้อย เช่น กลุ่มคนทำงาน , กลุ่มเกษตรกร เช่น ชาวสวนยาง และอีกกลุ่มหนึ่ง ที่หมอจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย
เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง คือ กลุ่มผู้ออกกำลังกาย ซึ่งในยุคปัจจุบัน TREND กระแสนิยม การออกกำลังกายที่เปลี่ยนไป เช่น การวิ่งระยะไกล , ปั่นจักรยาน ได้รับความนิยมอย่างมาก การวิ่งที่ไม่เหมาะสม ( วิ่งตามแฟชั่น วิ่งตามเพื่อน ) หลายๆคน ไม่เคยวิ่งระยะไกลมาก่อน จึงอาจขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดความพร้อม วิธีการปฎิบัติที่ถูกต้อง การวอร์ม และ คูลดาวน์ ไม่เพียงพอ ข้อเข่าอาจเกิดอาการอักเสบซ้ำๆ ซ้อนๆ จากการวิ่ง จึงนำมาสู่ ข้อเข่าเสื่อม ได้สบายๆ ครับ
ยกตัวอย่าง พี่ตูนนะครับ พี่ตูน เป็นนักร้อง ไม่ใช่นักวิ่ง ใช่มั้ยครับ ? แต่พี่ตูน ก็สามารถเป็นนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะมีการเตรียมตัวที่ดี และ มีหมอ ทีมงาน มีวิทยาศาสตร์การกีฬา คอยดูแลอย่างดีครับ
ขอบคุณภาพถ่ายจาก ww.nationtv.tv/main/content/378580267/
ปวดเข่า และ ข้อเข่าเสื่อม
ไม่ใช่โรคที่พบเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เท่านั้น
ลองมาตรวจสอบกันหน่อยครับ
ว่าคุณมีความเสี่ยงต่อ โรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ ?
คุณเคยมี อาการปวดเข่า แบบนี้ไหมครับ ???
- ปวดเข่า เป็นๆหายๆ มาเป็นระยะเวลานาน
- ปวดเวลาขึ้นลงบันได นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ สวดมนต์ ละหมาด หรือนั่งบนเก้าอี้เตี้ยๆ
- เวลาลุกจากที่นั่ง แล้วมีอาการปวดเข่า
- มีเสียงดัง เกิดขึ้นในข้อเข่า โดยเฉพาะเวลา งอ หรือเหยียดเข่า
- บางคนอาจมีอาการปวดมากเฉพาะจุด โดยเฉพาะ บริเวณหัวเข่าด้านใน
- ข้อเข่าบวม จับแล้วอุ่นๆ ร้อนๆ เป็นๆหายๆ
- ข้อเข่าฝืด ตึง ยึด เดินไม่สะดวก
- ในบางราย อาจมีอาการปวดข้อพับหลังเข่า ตึงเส้นเอ็นหลังเข่า และอาจคลำได้ก้อนเนื้อตึงๆ ที่ข้อพับเข่า
- หาก ปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจมีภาวะผิดรูป ขาโก่ง ขาวง หรือขาเกออกจากกัน
ทั้งหมดที่หมอกล่าวมาข้างต้นนี้
คือ อาการของโรค “ข้อเข่าเสื่อม” ครับ
ปัจจัย และสาเหตุของ โรค “ข้อเข่าเสื่อม”
- อายุ มักพบในคนอายุ 60 ปี ขึ้นไป จากการเสื่อมสภาพของผิวข้อ ตามอายุที่มากขึ้น
- เพศ มักเจอในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้หญิงเมื่อมีอายุมากขึ้น ประจำเดือนหมด ระบบโครงสร้างกระดูก จะถดถอย เกิดภาวะ กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน ได้เร็วกว่าผู้ชาย และอีกสาเหตุปัจจัยหนึ่ง คือ ส่วนใหญ่แล้วผู้ชาย จะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าผู้หญิง ทำให้เวลาใช้งาน กล้ามเนื้อจะรับภาระแรงกะแทกต่างๆ ได้ดี เป็นการลด แรงกะแทกที่เกิดขึ้นบนกระดูกโดยตรง
- พฤติกรรมการใช้งาน คนไหนทำงานหนัก ก็มีโอกาสข้อเสื่อมมาก ตรงไปตรงมาครับ
ขอยกตัวอย่าง หมออยู่ภาคใต้ ที่เจอบ่อยเลย ก็ ชาวสวนยาง ครับ แต่ละวันเดิน กรีดยาง หลายกิโลเมตร แล้ว …. พื้นที่สวนยาง ไม่ใช่ แนวราบ นะครับ ขึ้นเขา ลงห้วย เพราะฉะนั้นข้อเข่า ใช้งานหนักจริงๆ ครับ
- น้ำหนักตัว ที่มากเกินไป
แน่นอนครับ ข้อเข่าก็รับน้ำหนักมาก และทำงานหนัก เช่นกัน
ปกติเวลา คนเราเดินตามปกติ จะเกิดแรงกระแทกที่ข้อเข่า จำนวนเท่าใด ??
ให้ทายเลยครับ ว่ากี่กิโลกรัม ?????
>> ยกตัวอย่าง นะครับ
คนที่มี น้ำหนักตัว 100 kg เวลาเดินพื้นราบตามปกติ
แรงกระแทกที่เกิดขึ้น ในหัวเข่า คือ
300 kg !!!
หมอไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ ประมาณ สามร้อยกิโลกรัม
หรือคิดเป็น 3 เท่า ของ น้ำหนักตัวครับ โอ้ พระเจ้า จอรจ์ มันเยอะมากๆๆๆๆๆ แน่นอนครับ หากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ทางชัน ขึ้นเขา ลงห้วย ประมาณ 300 – 500 kg และ ถ้าวิ่งนู่นเลยครับ 500 – 700 kg ขึ้นไป
เห็นไหมครับ ว่าน้ำหนักตัวของเรานั้น ส่งผลโดยตรง ต่อแรงกะแทกที่ข้อเข่า มากขนาดไหน
- อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณข้อเข่ามาก่อน อันนี้ สุดวิสัยครับ ผู้ป่วยหลายราย เคยมีกระดูกข้อเข่าหัก เอ็นขาดจากการเล่นกีฬา ปัจจัยเหล่านี้ ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้องมาก่อนครับ จะช่วยลดโอกาสการเกิดข้อเข่าเสื่อมในอนาคต
- ข้อเข่าอักเสบจากโรคเรื้อรัง อันนี้เป็นจากโรคข้ออักเสบต่างๆ ครับ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคสะเก็ดเงินชนิดเข้าข้อ โรคข้อเข่าติดเชื้อ สาเหตุเหล่านี้ ต้องการการรักษาเฉพาะโรค และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโอกาสที่จะทำลายข้อ จนกลายเป็น โรคข้อเข่าเสื่อม ครับ
- ขาวง ขาเก มาตั้งแต่เกิด สาเหตุนี้ คือได้รับมรดกคุณพ่อ คุณแม่ กันมานะครับ สุดวิสัยเช่นกัน คนที่มีขาวงหรือขาผิดรูป มาตั้งแต่เกิด หมอแนะนำ ให้ใช้งานอย่างระวังครับ หมั่นดูแลให้ดี ออกกำลงกายอย่างถูกต้อง และหากเริ่มมีอาการต่างๆ ของโรคนี้ แนะนำไปพบแพทย์ กระดูกและข้อ เพื่อขอคำแนะนำและดูแลอย่างต่อเนื่องครับ
เมื่อรู้ถึงสาเหตุของ โรคข้อเข่าเสื่อม กันแล้ว ก็มาสำรวจตรวจสอบตัวเองกันนะครับ ว่าเรามีพฤติกรรมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้บ้างหรือไม่ เราพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้งาน ข้อเข่าให้เหมาะสม อย่างไร และหากคุณมีอาการเบื้องต้น และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องศึกษาหาแนวทาง เพื่อการดูแล โรคข้อเข่าเสื่อมกันครับ ซึ่งหมอจะแนะนำในบทความต่อไป
เรื่อง การดูแลรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม การใช้ยา และการผ่าตัด : ซึ่งจะแนะนำ วิธีการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในเบื้องต้น ด้วยตัวเอง รวมถึง การรักษาทางการแพทย์ เช่น การใช้ยา และการผ่าตัด ครับ
บทความโดย นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
You must be logged in to post a comment.